ภาพ : มนตร์สะกด แห่งความท้าทาย
ภาพโดย : มาร์โค โกรบ
คำบรรยายภาพ : พอล ซาโลเพก ติดตามมัคคุเทศก์ท้องถิ่นไปในทะเลทรายอะฟาร์ ระหว่างเดินเท้าเป็นระยะทาง 35,400 กิโลเมตรเพื่อย้อนรอยการอพยพออกจากแอฟริกาของมนุษย์สมัยใหม่ ติดตามการเดินทางของเขาได้ที่ outofedenwalk.nationalgeographic.com
ภาพโดย : มาร์โค โกรบ
คำบรรยายภาพ : พอล ซาโลเพก ติดตามมัคคุเทศก์ท้องถิ่นไปในทะเลทรายอะฟาร์ ระหว่างเดินเท้าเป็นระยะทาง 35,400 กิโลเมตรเพื่อย้อนรอยการอพยพออกจากแอฟริกาของมนุษย์สมัยใหม่ ติดตามการเดินทางของเขาได้ที่ outofedenwalk.nationalgeographic.com
Story
เราทุกคนล้วนเป็นนักเสี่ยงในสายเลือดจริงหรือ อะไรทำให้บางคนมุ่งมั่นเดินหน้าต่อเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แม้ต้องเดิมพันด้วยชีวิตชายผู้เป็นหัวหอกในการเดินทางสำรวจตลอดแนวความยาวของแกรนด์แคนยอน หาได้มีภาพลักษณ์ของนักสำรวจเจ้าเสน่ห์แห่งยุคทองชุบ (Gilded Age) เลยแม้แต่น้อย จอห์น เวสลีย์ พาวล์ สูงเพียง 168 เซนติเมตร ผมเผ้าหยาบกร้านราวกับขนแปรง ไว้เครารุงรังยาวลงมาถึงหน้าอก แขนเสื้อนอกข้างขวาห้อยต่องแต่งเพราะสังเวยให้กระสุนปืนในสมรภูมิไชโลห์ (Battle of Shiloh) ถึงกระนั้นในยุคหลังสงคราม เขากลับมุ่งหน้าออกสำรวจพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของเทือกเขาร็อกกี ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางชนพื้นเมืองอเมริกันที่ไม่เป็นมิตร และสำรวจเส้นทางอันวกวนซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักของระบบหุบผาชันขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อะไรกันแน่ที่เป็นแรงผลักดันอาจารย์มหาวิทยาลัยร่างเล็กและมีแขนข้างเดียวผู้นี้ให้ออกเดินทางสำรวจซึ่งหลายครั้งอาจเรียกได้ว่า เสี่ยงอันตรายที่สุดในยุคสมัยของเขา
อันที่จริง เราน่าจะถามคำถามเดียวกันนี้กับชายทั้ง 32 คนที่มาสมทบกับพาวล์ ณ ชมรมคอสมอส (Cosmos Club) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1888 พวกเขาก็ไม่ต่างจากพาวล์ที่ส่วนใหญ่ผ่านการเดินทางอันเต็มไปด้วยภยันตรายไปยังดินแดนดิบเถื่อนที่ไม่มีใครรู้จัก ในกลุ่มนี้มีทหารผ่านศึกสงครามกลางเมืองและการสู้รบกับชนพื้นเมืองอเมริกัน บ้างเป็นนายทหารเรือ นักปีนเขา นักอุตุนิยมวิทยา วิศวกร นักธรรมชาติวิทยา นักทำแผนที่ นักชาติพันธุ์วิทยา และนักข่าวผู้เคยเดินทางข้ามไซบีเรียมาแล้ว พวกเขามารวมตัวกันในค่ำวันนั้นเพื่อก่อตั้งสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และเห็นพ้องกันว่า ภารกิจขององค์กรใหม่แห่งนี้ที่ว่า “เพื่อเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ด้านภูมิศาสตร์” ย่อมต้องอาศัยการสำรวจอันยากลำบากไปสู่ดินแดนที่ยังไม่มีใครรู้จัก
ขึ้นชื่อว่าการสำรวจแล้วล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดว่าด้วยความกล้าได้กล้าเสียทั้งสิ้น ความเสี่ยงเป็นของคู่กับการเดินทางสู่ดินแดนแห่งความไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของกัปตันเรือในท้องทะเลที่ยังไม่มีใครเคยสำรวจ งานวิจัยโรคร้ายแรงของนักวิทยาศาสตร์ หรือการลงทุนทำธุรกิจใหม่ๆของผู้ประกอบการ แต่อะไรกันแน่ที่ผลักดันให้คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ออกเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก หรือเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ทดสอบทฤษฎีวัคซีนโรคไข้ทรพิษระยะเริ่มแรกกับเด็ก
แรงจูงใจบางอย่างของการยอมเสี่ยงเห็นได้ชัด ตั้งแต่เงินรางวัล ชื่อเสียง ผลประโยชน์ทางการเมือง ไปจนถึงการช่วยเหลือชีวิตผู้คน หลายคนเต็มใจพาตัวเองเข้าเสี่ยงอันตรายมากบ้างน้อยบ้างเพื่อมุ่งสู่จุดหมายดังกล่าว แต่เมื่ออันตรายทวีขึ้น จำนวนคนที่ปรารถนาจะมุ่งหน้าต่อไปมีแต่จะลดลง จนเหลือเฉพาะคนที่ยอมเสี่ยงอันตรายที่สุด ซึ่งได้แก่ผู้ที่ยอมเอาชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ และชีวิตเป็นเดิมพัน นี่คือความลี้ลับของการเสี่ยง อะไรทำให้มนุษย์บางคนเต็มใจเสี่ยงมหันตภัยและเดินหน้าต่อไป แม้ต้องเผชิญกับผลลัพธ์อันหนักหนาสาหัสก็ตาม
125 ปีหลังจากคืนนั้นที่ชมรมคอสมอส นักวิทยาศาสตร์เริ่มเปิด “กล่องดำ” ทางประสาทวิทยา ซึ่งบรรจุกลไกของพฤติกรรมกล้าได้กล้าเสีย งานวิจัยเหล่านี้พุ่งความสนใจไปที่สารส่งผ่านประสาท (neurotransmitter) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ควบคุมการสื่อสารภายในสมอง สารส่งผ่านประสาทตัวหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมกลไกของความกล้าเสี่ยงคือโดพามีน (dopamine) ซึ่งนอกจากจะช่วยควบคุมทักษะการเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีส่วนผลักดันให้เราแสวงหาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คนที่สมองผลิตโดพามีนไม่เพียงพอ เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักต้องต่อสู้กับความรู้สึกเฉยชาและการขาดแรงจูงใจ
โดพามีนช่วยให้เรารู้สึกพึงพอใจเมื่อบรรลุภารกิจ ยิ่งภารกิจเสี่ยงมากเท่าไร ปริมาณโดพามีนก็ยิ่งสูงเท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งที่ช่วยอธิบายว่า ทำไมพวกเราทุกคนจึงไม่ไปปีนเขาหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็เพราะแต่ละคนมีระดับโดพามีนไม่เท่ากัน
สิ่งนี้มักสร้างความสับสนระหว่างคนกล้าเสี่ยงกับคนที่แสวงหาความเร้าใจ หรือพวกเสพติดอะดรีนาลิน ฮอร์โมนอะดรีนาลินเป็นสารส่งผ่านประสาทตัวหนึ่งเช่นกัน แต่แตกต่างจากโดพามีนซึ่งผลักดันเราให้เข้าหาอันตรายขณะพยายามมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางอย่าง ส่วนอะดรีนาลินช่วยให้เราสามารถเอาตัวรอดจากอันตราย
แนวคิดที่ว่าเราทุกคนล้วนสืบเชื้อสายมาจากผู้กล้าเสี่ยงอันตราย สร้างความฉงนให้พอล ซาโลเพก นักเขียน เขาให้เหตุผลว่า “มนุษย์สมัยใหม่ที่เดินทางออกจากแอฟริกาเป็นนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่กลุ่มแรกๆ” ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงออกเดินทางเป็นระยะทาง 35,400 กิโลเมตร ใช้เวลานานเจ็ดปี เพื่อตามรอยเท้านักสำรวจกลุ่มแรกเหล่านี้ที่อพยพออกจากแอฟริกาและกระจายไปทั่วโลก
ซาโลเพกเองก็กำลังเสี่ยงครั้งใหญ่ในการเดินทางครั้งนี้ “แผนการที่วางไว้คือผมจะเดินเป็นระยะทางเท่าที่ ชนเผ่าเร่ร่อนเดินในแต่ละวันตอนที่ออกจากแอฟริกาเมื่อ 50,000 ถึง 70,000 ปีก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ประมาณวันละ 16 กิโลเมตร” เขาบอกในเดือนมกราคมก่อนออกเดินทางไม่นานนัก โดยตั้งต้นจากภูมิภาคอะฟาร์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอธิโอเปีย ซึ่งมีการค้นพบฟอสซิลที่มีลักษณะของมนุษย์สมัยใหม่ชุดแรกๆ
เขาเปิดใจว่า “ปรัชญาเบื้องหลังการเดินทางครั้งนี้คือ ผมอยากให้ผู้อ่านให้ความสนใจน้อยลงกับความเชื่อที่ว่า โลกเป็นสถานที่ที่อันตราย เพราะโลกใบนี้ฆ่าคุณได้ในชั่วอึดใจเดียว ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม” และหวังว่า “ผู้อ่านจะนึกถึงขอบฟ้าที่กว้างไกลขึ้น โอกาสและความเป็นไปได้ที่เปิดกว้างมากกว่าในชีวิต หนทางที่มีผู้ก้าวเดินและที่ไร้ผู้คนเหยียบย่าง และรู้สึกสบายๆกับความไม่แน่นอนครับ”
พูดง่ายๆก็คือ ซาโลเพกต้องการย้ำเตือนผู้คนว่า โดยเนื้อแท้แล้วเราทุกคนล้วนเป็นนักเสี่ยง จะมีก็เพียงบางคนที่กล้ามากกว่าคนอื่น และความปรารถนาที่เรามีร่วมกันในการออกสำรวจโลกนี้ก็ร้อยรัดเผ่าพันธุ์เราไว้ด้วยกันมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว