“แม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่เข้มแข็งและอ่อนแอแต่ไม่มีครั้งใดที่เราจะขาดวีรบุรุษ”
เหงวียน จ๋าย
Bình Ngô Đại Cáo (คำประกาศชัยชนะเหนือกองทัพราชวงศ์หมิง)
วันประกาศเอกราช | ๒ กันยายน ๒๔๘๘/๑๙๔๕ |
ชื่อทางการ | สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) |
เมืองหลวง | ฮานอย |
ระบอบการปกครอง | คอมมิวนิสต์ |
ประชากร | ๙๐,๓๘๘,๐๐๐ คน (กรกฎาคม ๒๕๕๕/๒๐๑๒, CIA World Factbook) |
ภาษาราชการ | ภาษาเวียด |
เกิดที่หมู่บ้านจีหง่าย (Chi Ngại) ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดหายเซือง (Hải Dương) บิดาเป็นปราชญ์ขงจื๊อฐานะยากจน มารดาเป็นบุตรสาวของขุนนางราชสำนักโห่ (Hô) เหงวียน จ๋าย สอบเข้ารับราชการในราชสำนักโห่ในปี ๑๙๔๓/๑๔๐๐ ทว่าหลังจากนั้นในปี ๑๙๕๐/๑๔๐๗ กองทัพจีนราชวงศ์หมิงก็ยกทัพมาโจมตีราชวงศ์โห่ จนได้ชัยชนะและกวาดต้อนผู้คนไปเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือบิดาของเขาโดยหลักฐานเวียดนามบางชิ้นระบุว่า เหงวียน จ๋าย หนีการจับกุมได้ แต่หลักฐานบางชิ้นก็ระบุว่าบิดาขอร้องให้เขาอยู่ในเวียดนามเพื่อหาทางกู้อิสรภาพ
ท่ามกลางความวุ่นวาย เหงวียน จ๋าย สืบหาความเคลื่อนไหวของกองกำลังอิสระต่าง ๆ จนพบว่าที่ภูเขาลามเซิน (Lam Sơn) ขบวนการลามเซิน นำโดย เล เหล่ย มีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะรวบรวมผู้กล้าตอบโต้กองทัพหมิง เขาจึงร่วมกับ เล เหล่ย โดย เล เหล่ย นับถือ เหงวียน จ๋าย เป็นสหายร่วมรบ
เหงวียน จ๋าย มอบตำราพิชัยสงคราม บิ่ง โง (Bình Ngô) ที่เขาเขียนขึ้น ๓ เล่มใหญ่ให้ เล เหล่ย ใช้ต่อสู้กับกองทัพหมิง หลังจากนั้นขบวนการลามเซินก็ได้ชัยชนะในหลายสนามรบด้วยยุทธวิธีที่หลากหลาย โดยเฉพาะการทำสงครามกองโจรตัดเสบียงอาหารกองทัพหมิง ภายใต้คำขวัญปลุกใจว่า “เก็บแต่น้อย ตีให้หนัก เปลี่ยนความอ่อนแอเป็นความเข้มแข็งและชัยชนะ ใช้ความรักในเพื่อนมนุษย์สู้กับความอำมหิต”
นอกจากวางแผนยุทธศาสตร์ เหงวียน จ๋าย ยังเขียนแถลงการณ์และจดหมายติดต่อกับกองทัพราชวงศ์หมิงให้ เลเหล่ย ในที่สุดก็ขับไล่กองทัพหมิงได้สำเร็จในปี ๑๙๗๑/๑๔๒๘ เมื่อ เล เหล่ย ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เล เหงวียน จ๋าย ได้รับพระราชโองการให้เขียน “คำประกาศชัยชนะเหนือกองทัพราชวงศ์หมิง” บิ่ง โง ได่ ก๊าว (Bình Ngô Đại Cáo – Great Proclamation upon the Pacification of the Wu)* ซึ่งสื่อถึงการกำชัยชนะเหนือ จูหยวนจาง จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์หมิงโดยตรง
ช่วงต้นรัชกาลจักรพรรดิเล เหล่ย เหงวียน จ๋าย เป็นเสนาบดีคนสำคัญ ได้รับพระราชทานชุดขุนนางและป้ายจารึกนาม เล จ๋าย (Lê Trãi) มีบทบาทในการวางระบบบริหารราชการแผ่นดิน เขานำระบบราชสำนักจีนมาปรับใช้ เช่น ปรับปรุงการสอบจอหงวนเพื่อเปิดรับผู้มีความสามารถสอบเข้ารับราชการโดยไม่จำกัดชนชั้น
ช่วงปลายรัชสมัยจักรพรรดิเล เหล่ย ทรงฟังขุนนางกังฉิน ลงโทษขุนนางผู้มีความดีความชอบ เหงวียน จ๋าย ก็ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัย ในที่สุดเขาถูกจำคุก ๓ เดือน เมื่อพ้นโทษออกมารับราชการอีกครั้งก็ไม่ได้รับความไว้วางใจอีกต่อไป เมื่อ เล เหล่ย สิ้นพระชนม์ เล ซ้าด (Lê Sát) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระโอรส เล ท้าย ทง (Lê Thái Tông) ที่ยังทรงพระเยาว์ก็บริหารบ้านเมืองแทน และกลั่นแกล้ง เหงวียน จ๋าย จนต้องลาออกจากราชการไปอาศัยอย่างสงบที่เขาจี้หลินทางเหนือของเมืองฮานอย ที่นั่นเขาใช้เวลาแต่งบทกวีและสนทนากับนักปราชญ์
ปี ๑๙๘๕/๑๔๔๒ เมื่อยุวกษัตริย์เสด็จฯ มาพบ เหงวียน ถิ โหละ (Nguyễn Thị Lộ) ภรรยาของ เหงวียน จ๋าย ปรากฏว่าเมื่อเสด็จฯ กลับก็ทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาและภรรยาถูกตั้งข้อหาปลงพระชนม์และได้รับโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ๒๐ ปีต่อมา เมื่อความจริงปรากฏ เล แท้ง ตง (Lê Thánh Tông) จักรพรรดิรัชกาลต่อมาก็ทรงขอขมา เหงวียน จ๋าย อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์
เหงวียน จ๋าย ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญทางวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นผู้วางระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของเวียดนามจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี ๒๕๒๓/๑๙๘๐ โดยมีการจัดงานฉลองครบรอบ ๖๐๐ ปีชาตกาล ของ เหงวียน จ๋าย ทั่วประเทศเวียดนาม
ทุกวันนี้บนเขาจี้หลินยังมีศาลเจ้า เหงวียน จ๋าย อยู่บนยอดเขา ที่พักของเขาได้รับการบูรณะขึ้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยใกล้ ๆ มีวัดอายุเก่าแก่นับร้อยปีตั้งอยู่
* ในตำราเรียนประวัติศาสตร์เวียดนามระดับมัธยมศึกษา กำหนดให้นักเรียนเรียนคำประกาศเอกราช ๓ ฉบับ “บิ่ง โง ได่ ก๊าว” มีฐานะเป็นคำประกาศเอกราชครั้งที่ ๒ (คำประกาศเอกราชครั้งแรกคือ “นาม ก๊วก เซิน ห่า” (Nam Quốc Sơn Hà) ส่วนคำประกาศเอกราชครั้งที่ ๓ คือคำประกาศเอกราชของประธานาธิบดีโฮจิมินห์)
ผู้เลือก : หวู ดึ๊ก เลียม (VŨ Đức Liêm)
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติฮานอย (Hanoi National University of Education) วัย ๒๗ ปี
ผมเลือก เหงวียน จ๋าย เพราะเขาคือผู้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเวียดนาม ผมไม่เลือกโฮจิมินห์ เพราะที่ผ่านมาคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์มักเป็นคนพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพที่สนใจแต่ประวัติศาสตร์ต่อต้านเจ้าอาณานิคม ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาประวัติศาสตร์คิดถึงประวัติศาสตร์เวียดนามที่มากกว่ายุคคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเต็มไปด้วยสงครามและเป็นภาพจำของผู้คนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึงประเทศนี้ แน่นอน ลุงโฮเป็นคนสำคัญ เป็นวีรบุรุษแห่งชาติเสมอสำหรับเวียดนาม แต่เรากำลังพยายามคิดถึงผู้ที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้วย
“ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ เหงวียน จ๋าย นำวัฒนธรรมจีนมาใช้ในราชสำนักเล เปลี่ยนจากเดิมที่มีลักษณะพุทธให้มีลักษณะ ‘โอรสสวรรค์’ แบบฮ่องเต้จีนมากขึ้น ผลงานของเขาที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือ “บิ่ง โง ได่ ก๊าว” คำประกาศเอกราชที่บ่งบอกอุดมคติเวียดนาม และตอนนี้ได้กลายเป็นอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม อาจนึกไม่ออกว่าเกี่ยวกันอย่างไร ขออธิบายว่าแนวคิด เช่น ‘กษัตริย์ที่ดี ราชสำนักที่ต้องรับใช้ราษฎร’ สิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนา กลายเป็นความคาดหวังที่คนเวียดนามมีต่อผู้ปกครอง ราชวงศ์อยู่ได้หรือไม่ก็ขึ้นกับว่าพวกเขาดูแลราษฎรหรือไม่ พอถึงยุคต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม โฮจิมินห์ก็นำมาปรับใช้…ใช่ครับ อุดมการณ์ของลุงโฮส่วนหนึ่งมีฐานจากอุดมการณ์มาร์กซ์-เลนิน แต่อีกส่วนก็มีพัฒนาการจากในเวียดนามเอง
“คนเวียดนามปัจจุบันรู้จัก เหงวียน จ๋าย แต่ปัญหาคือจำนวนมากรู้แค่เขาเป็นคนวางยุทธศาสตร์ต่อต้านกองทัพราชวงศ์หมิงที่พยายามยึดครองเวียดนามในอดีต แต่ไม่รู้ถึงผลกระทบทางวัฒนธรรมและสังคมที่เขาสร้างขึ้น ซึ่งผมอยากเน้นจุดนี้ เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์อาเซียน ถ้าเราคิดถึงความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เราจะพบว่าในยุคก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ มีการส่งผ่านแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกันอย่างแพร่หลาย เราจะพบว่าคนยุคโบราณนั้นมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่าคนรุ่นปัจจุบัน และเรื่องนี้สำคัญมากกับอาเซียน
“ถ้าเราจะค้นหาบุคคลสำคัญที่เป็นตัวแทนอาเซียนสักคน ในระยะสั้นคงยากเพราะแต่ละประเทศมีค่านิยมพื้นฐานแตกต่างกัน แต่ถ้าเรามองให้ไกลออกไป อาจนึกถึงนักคิด และตั้งเงื่อนไขที่ต่างออกไป ผมคิดว่าเขาต้องมีมุมมองระดับภูมิภาค สร้างความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างกว้างขวาง และทำให้ประชาชนในภูมิภาคเข้าอกเข้าใจกัน พูดตามตรง ผมนึกถึงคนอย่างประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซีย รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ของไทย ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ของเวียดนาม นายพลอองซานของพม่า คนเหล่านี้มีภูมิหลังแตกต่างกัน มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน แต่พวกเขาเป็นเพื่อนกัน และครั้งหนึ่งอาเซียนเกือบจะเกิดขึ้นได้เพราะรัฐบุรุษเหล่านี้ และพวกเขามีมาตรฐานร่วมกันคือต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และทำเพื่อมหาชน
“ทุกสังคมต้องการวีรบุรุษ แต่เราสร้างวีรบุรุษขึ้นมาไม่ได้ วีรบุรุษต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่ใช่ทางการ จะมีสักกี่คนที่บทบาทของเขากระทบกับคนจำนวนมาก กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อยังประโยชน์กับคนหมู่มาก คนเหล่านี้ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าบางอย่างและทำสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้า”
|