ภาพ : ดำ ดิ่ง เดี่ยว ลึกสุดโลก
ภาพโดย : มาร์ก ทีสเซน
คำบรรยายภาพ : เครนบนเรือยกยาน ดีปซีแชลเลนเจอร์ ขึ้นสู่ดาดฟ้า หลังจากดำทดสอบลงไปที่ความลึก 8,221 เมตร ถุงลมสีส้มช่วยเสริมการลอยตัวระหว่างขึ้นสู่ผิวน้ำ ส่วนถุงสีเทาทำหน้าที่ปรับยานให้อยู่ ในแนวนอนเพื่อกู้ขึ้นจากน้ำ
ภาพโดย : มาร์ก ทีสเซน
คำบรรยายภาพ : เครนบนเรือยกยาน ดีปซีแชลเลนเจอร์ ขึ้นสู่ดาดฟ้า หลังจากดำทดสอบลงไปที่ความลึก 8,221 เมตร ถุงลมสีส้มช่วยเสริมการลอยตัวระหว่างขึ้นสู่ผิวน้ำ ส่วนถุงสีเทาทำหน้าที่ปรับยานให้อยู่ ในแนวนอนเพื่อกู้ขึ้นจากน้ำ
Story
เกาะติดภารกิจท้ามฤตยูของเจมส์ แคเมอรอน ผู้กำกับ ไททานิก ที่นำยานสำรวจใต้น้ำสุดไฮเทคดำลงสู่จุดลึกที่สุดของห้วงสมุทร
หลายปีมาแล้วที่เขาใฝ่ฝันอยากดำลงสู่ก้นร่องลึกบาดาลมาเรียนา (Mariana Trench) ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรและบนพื้นผิวโลก ในการทำความฝันนั้นให้เป็นจริง เจมส์ แคเมอรอน นักสำรวจและนักสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง ต้องออกแบบและสร้างยานพาหนะขึ้นเอง นั่นคือยานสำรวจใต้น้ำล้ำยุค ดีปซีแชลเลนเจอร์(DEEPSEA CHALLENGER) หลังจากใช้เวลาเจ็ดปีในการวิจัย ออกแบบ และทดสอบ คำถามหนึ่งยังคงค้างคาใจ นั่นคือ ยานลำนี้จะรอดพ้นจากแรงดันมหาศาลที่ระดับความลึก 11,000 เมตรได้หรือไม่ ขณะที่โครงการสำรวจซึ่งกินเวลานานสองเดือนใกล้สิ้นสุดลง แคเมอรอนใช้ชีวิตเขาเองเป็นเดิมพันเพื่อค้นหาคำตอบนี้เวลา 05:15 น. วันที่ 26 มีนาคม ปี 2012
ก่อนฟ้าสางในท้องทะเลมืดมิด ยาน ดีปซีแชลเลนเจอร์ ของผมโยกคลอนขึ้นลงและแกว่งไปมาขณะคลื่นลูกยักษ์ของมหาสมุทรแปซิฟิกม้วนตัวอยู่เหนือศีรษะผม ยานสีเขียวสดที่ยังยึดอยู่กับเครนบนเรือลอยตัวในแนวดิ่ง ดูประหนึ่งตอร์ปิโดที่เล็งสู่แกนกลางโลก
ลุยกันเลย ผมสูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกดไมโครโฟนบอกไปว่า “โอเค พร้อมเริ่มดำลงแล้ว ปล่อยเลย ปล่อยเลย!”
หัวหน้านักประดาน้ำกระตุกสายคล้อง ทุ่นลอยหลุดออก ยานดิ่งลงราวกับหินก้อนหนึ่ง และภายในไม่กี่วินาที ร่างของนักประดาน้ำก็ค่อยๆ เล็กลงแล้วเลือนหายไป เหลือเพียงความมืดมิด ผมกำลังดิ่งลงด้วยความเร็วราว 150 เมตรต่อนาที หลังจากใฝ่ฝันมาชั่วชีวิต ใช้เวลากว่าเจ็ดปีไปกับการพัฒนาและสร้างยาน ในที่สุดผมก็กำลังมุ่งหน้าสู่แชลเลนเจอร์ดีป (Challenger Deep) จุดลึกที่สุดในบรรดามหาสมุทรของโลก
เวลา 05:50 น. ความลึก 3,810 เมตร
ผมลงมาถึงความลึกของ ไททานิก ภายในเวลาเพียง 35 นาที และดิ่งลงด้วยความเร็วสี่เท่าของยานใต้น้ำ เมียร์(Mir) สัญชาติรัสเซียที่พวกเราใช้เมื่อปี 1995 เพื่อถ่ายทำเกี่ยวกับซากเรืออับปางอันโด่งดังลำนั้นสำหรับใช้ในการสร้างภาพยนตร์ ในตอนนั้น ผมรู้สึกราวกับว่า ไททานิก จมอยู่ที่ความลึกสุดโต่งที่สุดในจินตนาการของมนุษย์แล้ว มาตอนนี้ผมกำลังโบกมือไหวๆขณะแล่นผ่านความลึกนั้นไป
เวลา 06:46 น. ความลึก 8,230 เมตร
ผมเพิ่งดิ่งเลยความลึกของการดำสำรวจเดี่ยว ซึ่งเป็นสถิติก่อนหน้านี้ของตัวเอง เมื่อสามอาทิตย์ก่อนที่ร่องลึกบาดาลนิวบริเตน (New Britain Trench) นอกชายฝั่งปาปัวนิวกินี ไม่น่าเชื่อว่าผมยังต้องดำลงไปอีก 2,740 เมตร เวลาราวกับยืดยาวออกไป
เวลา 07:43 น. ความลึก 10,850 เมตร
ขณะยานเคลื่อนที่ช้าลงในช่วง 2,740 เมตรสุดท้าย ผมปล่อยอับเฉาบางส่วนออกไป เป็นตลับลูกปืนเหล็กกล้าที่ปล่อยออกมาจากอุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อลดภาวะการลอยตัว (buoyancy) ของยาน ตอนนี้เราอยู่ในสภาพการลอยตัวเกือบ “เป็นกลาง” ไม่หนักไม่เบา ขณะดำลงอย่างช้าๆโดยอาศัยแรงขับดันเพียงอย่างเดียว มาตรวัดความสูงระบุว่า ก้นสมุทรอยู่ต่ำลงไป 46 เมตร
30 เมตร... 27 เมตร... 24 เมตร... ผมน่าจะเห็นอะไรสักอย่างแล้ว 21... 18... ในที่สุดผมก็เห็นแสงเรืองๆสะท้อนขึ้นมาจากก้นสมุทรสีเรียบราวกับเปลือกไข่ ไร้ซึ่งรายละเอียดใดๆ ผมยังไม่แน่ใจว่าพื้นผิวเบื้องล่างแข็งพอหรือไม่ จึงละมือข้างหนึ่งจากคันบังคับเครื่องยนต์ชั่วครู่ เพื่อสาดไฟสปอตไลต์ไปทั่วบริเวณ น้ำใสแจ๋วจนผมมองเห็นได้ไกลลิบ ผมเคยเห็นก้นสมุทรจากการดำสำรวจใต้ทะเลลึกมามากกว่า 80 ครั้ง แต่ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน
เวลา 07:46 น. ความลึก 10,898.5 เมตร
ผมค่อยๆบังคับยานให้ลงถึงก้นสมุทร จากกล้องที่ติดตั้งอยู่บนแขนกล ผมเห็นขายานจมลงไปราว 10 เซนติเมตรก่อนจะหยุดนิ่ง ผมลงจอดแล้ว การดำลงมาใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่ง จากนั้นก็มีเสียงจากเบื้องบนสูงขึ้นไป 11 กิโลเมตร “ดีปซี แชลเลนเจอร์ จากพื้นผิว ขอตรวจสอบการสื่อสาร” เสียงที่ได้ยินแผ่วเบา แต่ชัดเจนอย่างน่าขนลุก
ผมชำเลืองดูมาตรวัดความลึก แล้วกดไมค์ตอบไปว่า “พื้นผิว จาก ดีปซีแชลเลนเจอร์ ผมอยู่ที่ก้นสมุทรแล้ว ความลึกคือ 35,756 ฟุต... ระบบอุ้มชูชีวิตปกติ ทุกอย่างดูปกติ”
หลายวินาทีอันยาวนานผ่านไป ระหว่างข้อความของผมวิ่งจากก้นบึ้งของโลกขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วเสียง และคำตอบวิ่งย้อนกลับลงมา “ทราบแล้วเปลี่ยน” ผมนึกภาพออกเลยว่า ทุกคนกำลังยิ้มกว้างและปรบมือกันอยู่ในเรือข้างบน ที่แน่ๆซูซี ภรรยาผม คงโล่งใจเหมือนยกภูเขาออกจากอก
ได้เวลาทำงานแล้ว เราวางแผนจะอยู่ที่ก้นสมุทรเพียงห้าชั่วโมง และมีเรื่องต้องทำเยอะมาก ผมหักเลี้ยวยานใช้กล้องกวาดมองไปรอบๆโลกที่ผมเพิ่งลงมาถึง ก้นสมุทรราบเรียบ ไม่มีลักษณะเฉพาะหรือโดดเด่นใดๆเลย ผมสตาร์ทระบบไฮดรอลิก เปิดประตูด้านนอกยานที่ติดกับห้องทดลองวิทยาศาสตร์ แล้วยื่นแขนกลไปเก็บตัวอย่างแกนสารตะกอนชิ้นแรกขึ้นมา
เวลา 09:10 น. ความลึก 10,897 เมตร
แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าสองชั่วโมงแล้ว ผมก็ยังรู้สึกทึ่งและนอบน้อมในเอกสิทธิ์อันยิ่งใหญ่ที่ได้มาอยู่ตรงนี้ และเป็นประจักษ์พยานเบื้องหน้าโลกยุคแรกกำเนิด นักวิทยาศาสตร์หลายคนในทีมของเราเชื่อว่า โลกอาจถือกำเนิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้เมื่อหลายพันล้านปีก่อน
เวลา 10:30 น. ความลึก 10,877 เมตร
ผมหยุดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะกดสวิตช์ทิ้งน้ำหนักถ่วงสำหรับลอยตัวกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ความคิดหนึ่งแวบเข้ามาในหัว นี่ถ้าน้ำหนักไม่หลุดออกไป ผมคงไม่ได้กลับบ้าน เป็นอันจบข่าว
คลิก ผมได้ยินเสียง ตุ๊ง อันคุ้นเคย เมื่อแผงน้ำหนักขนาด 243 กิโลกรัมสองแผงเลื่อนออกจากราง และดิ่งลงสู่ก้นสมุทร ยานกระชากตัวพุ่งขึ้นไป ก้นสมุทรถอยห่างออกไปและจมหายไปในความมืดชั่วนิรันดร์ของมันทันที ขณะความเร็วเพิ่มสูงขึ้น ตะกอนที่ติดอยู่กระจายออกมาอย่างรุนแรงจากบริเวณห้องเก็บตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ ผมทะยานด้วยความเร็วมากกว่าสามเมตรต่อวินาที เร็วที่สุดตั้งแต่ยานลำนี้เคยขับเคลื่อนมา และจะไปถึงผิวน้ำภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ความรู้สึกโล่งอกแผ่ซ่านทั่วกายขณะตัวเลขลดต่ำลงเรื่อยๆ ผมกำลังเดินทางกลับสู่โลกแห่งแสงอาทิตย์ อากาศ และจุมพิตอันหอมหวานของซูซี